เคล็ดลับเอกสาร 9 ชิ้น ภารกิจล่าเงินคืนภาษี "รถคันแรก"



ใกล้วันที่ 1 ตุลาคมเข้ามาทุกที บรรดาผู้ใช้สิทธิ์ขอคืนภาษีรถคันแรกต่างหูผึ่ง ความหวังเริ่มเป็นจริงเสมือนคนถูกลอตเตอรี่ เมื่อผู้โชคดี 50 คนแรกที่ยื่นเอกสารมาตั้งแต่ก่อน "น้ำท่วม" เมื่อปีที่แล้ว กำลังจะได้เงินคืนเป็นกลุ่มแรก

SMS จากกรมบัญชีกลางที่จะแจ้งเข้ามาว่า "คุณได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีแล้ว" เปรียบเสมือน SMS แจ้งว่า "คุณคือผู้โชคดี" ยังไงยังงั้น



สร้างความหวังให้กับผู้ใช้สิทธิ์รถคันแรกคนอื่น ๆ ที่จากนี้ก็เตรียมนั่งนับวันรอว่า เมื่อไรจะถึงคิวของตัวเอง

จริง ๆ ต้องเรียกว่า กว่าจะมาถึงวันที่เจ้าของรถคันแรกเหล่านี้ได้รับเงินคืนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อย่างที่คิด

ไม่นับรวมเรื่อง "ทุนทรัพย์" ที่หลายคนต้องพยายามเสาะหา "เงินดาวน์" แบบเร่งด่วน เพื่อขอใช้สิทธิ์ "รถคันแรก" กับเขาด้วย

ก่อนจะมาถึงขั้นตอนการรวบรวมเอกสารทุกอย่างเพื่อไปยื่นกับกรมสรรพสามิต เบ็ดเสร็จแล้วไม่มากไม่น้อยเกินไป ตัวเลขกำลังสวยที่ 9 ชิ้น

ไล่ลำดับไปตั้งแต่สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ขอใช้สิทธิ์, หนังสือยินยอมสละสิทธิ์การโอนรถยนต์ใหม่คันแรก,ใบคำขอใช้สิทธิ์และเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรก, สำเนาคู่มือการจดทะเบียน, สำเนาหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ และใบจองรถยนต์, สำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ (กรณีที่ไม่ได้ซื้อเงินสด)

เจ้าของรถบางคนถือว่าทำการบ้านมาอย่างดี ทั้งค้นข้อมูลผ่านเว็บ Google ว่าต้องไปที่ไหน เตรียมเอกสารอะไรไปบ้าง บางคนก็มีเซลส์มาคอยแนะนำนู่นนี่นั่นให้

จากการพูดคุยกับ "เจ้าของรถคันแรก" ผู้ขอใช้สิทธิ์คืนภาษีมาแล้วคนหนึ่ง เธอเล่าให้ฟังว่า กว่าจะยื่นเอกสารจนได้ "ใบรับคำขอใช้สิทธิ์ฯ สำหรับรถยนต์ใหม่คันแรก" มาไว้อยู่ในครอบครอง

เพื่อการันตีว่า "เอกสารทุกอย่างครบถ้วน" นั้น ไม่ "หมู" อย่างที่คิด

แม้จะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่การเสิร์ชหาสถานที่ยื่นเอกสาร ซึ่งระบุว่าต้องเป็นสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน รวมถึงการเตรียมเอกสารทั้งหมดที่ต้องยื่นกับทางสำนักงาน

แต่หลังจากฝ่ารถติดเกือบ 2 ชั่วโมงเพื่อไปยังสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2 ย่านสาทร เธอกลับพบว่า จริง ๆ แล้วการยื่นเอกสารนั้นสามารถทำที่สำนักงานสรรพสามิตที่ไหนก็ได้!

"ตอนนี้ทางรัฐบาลเขาเปลี่ยนกฎแล้ว คือยื่นที่สำนักงานสรรพสามิตเขตไหนก็ได้ ไม่ต้องตามทะเบียนบ้าน เพื่อความสะดวก" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งทำให้เธอถึงบางอ้อ

เธอเล่าว่า ขณะนั้นนึกในใจ "ไม่เห็นรู้เรื่องเลย หรือว่าคนอื่นเขารู้กัน เราไม่รู้อยู่คนเดียว"

ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากเจ้าหน้าที่คนนั้นพลิก ๆ ดูเอกสารสักพักหนึ่ง ก็เงยหน้าขึ้นมาถามเธอว่า "คุณซื้อเงินสดเหรอ"

เท่านั้นแหละ เธอรู้ว่า "พลาดแล้ว"

มิหนำซ้ำนอกจากหนังสือเช่าซื้อที่ไม่มี เธอยังขาดเอกสารสำคัญอีก 2 อย่าง คือ สำเนาหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ และใบจองรถยนต์อีกด้วย

"เซลส์ยี่ห้อนี้เป็นอย่างนี้เยอะเลย ไม่ให้ใบจองรถกับใบยืนยันการส่งมอบรถให้กับลูกค้าประจำ ผมเจอมาเป็นสิบ ๆ เคสแล้ว ต้องโทร.ไปให้เขาแฟกซ์มาที่นี่ แต่หลัง ๆ เริ่มเยอะไม่เอาแล้ว ให้เจ้าของรถไปขอเอง" เธอเล่าคำพูดของเจ้าหน้าที่สรรพสามิตให้ฟัง

ดังนั้น วันนั้นเธอจึงกลับไปอย่างมึนตึ้บพร้อมกับภารกิจสำคัญ คือ "ตามล่า" หาเอกสารอีก 3 ชิ้นที่ยังขาดอยู่ สำหรับใบจองกับใบยืนยันการส่งมอบรถนั้นไม่ยาก เธอรีบโทร.ไปหาเซลส์ให้แฟกซ์มาให้

"ปัญหาใหญ่" จริง ๆ อยู่ที่ "หนังสือเช่าซื้อ" ที่ต้องโทร.เข้าไปขอที่ไฟแนนซ์ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 2 อาทิตย์กว่าเอกสารทั้งหมดจะเดินทางมาถึงบ้าน

"เจ้าหน้าที่ไฟแนนซ์ดูเชี่ยวชาญมาก เพราะคงจะรับสายในลักษณะนี้ไม่รู้กี่เคสแล้ว เค้าให้แฟกซ์รายการจดทะเบียนรถเข้าไป พร้อมพูดแบบเซ็ง ๆ ว่า เซลส์ค่ายนี้เป็นแบบนี้หลายรายแล้ว ไม่บอกลูกค้าตั้งแต่แรก มีคนเพิ่งรู้แล้วโทร.เข้ามาขอเยอะมาก เร่งให้เราส่งให้ แต่ขั้นตอนมันต้องใช้เวลา 2 อาทิตย์"

กว่าที่สาวเจ้าของรถคันแรกผู้นี้จะรวบรวมเอกสารอีก 3 ชิ้นได้ครบก่อนกลับไปยังสำนักงานสรรพสามิตอีกครั้ง แน่นอนว่าครั้งนี้เธอเลือกที่มันใกล้บ้านมากขึ้น

เธอเล่าติดตลกว่า "กลับไปยื่นเอกสารอีกครั้ง คนเต็มสำนักงานถึงขนาดต้องมีบัตรคิวสำหรับรถคันแรก มีเจ้าหน้าที่ที่คอยดูเรื่องนี้กันอยู่ 2 คน ก็ดูงานยุ่งมาก เช็กเอกสารกันให้วุ่นวาย ส่วนพวกเจ้าหน้าที่ที่คอยดูขอใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่ ก็นั่งตบยุงกัน"

เชื่อแล้วว่ากว่าจะได้ "หลักฐานรอรับเงินคืนเงินภาษี" กระดาษขนาดครึ่ง A4 ใบเล็ก ๆ มาครอบครองนั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ตามล่าเงินคืนภาษีจากรัฐบาล นับว่ายากแล้วการตามล่าเอกสารให้ครบถ้วน นับว่ายากไม่แพ้กัน

สำนวนที่ว่า เงินหลวง ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ นั้นนับว่ายังใช้ได้ในราชการไทย

ฟังแล้วเหนื่อยแทน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ