ขับขี่ปลอดภัย ตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ


การตั้งสถาบันสอนกฎจราจรแห่งแรกในประเทศไทย เป็นเรื่องน่าชื่นชมในความตั้งใจดีของกระทรวงศึกษาธิการกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพราะเป็นที่รู้กันมานานว่าพฤติกรรมเสี่ยงคือ สาเหตุใหญ่ของอุบัติเหตุ การที่เล็งเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมาย คงสะท้อนความเชื่อของผู้รับผิดชอบว่า การสอนกฎจราจร ตั้งแต่เยาว์วัยจะนำไปสู่ การลดพฤติกรรมเสี่ยงได้ในระยะยาว เข้าทำนอง คติ “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก”



  ถ้าความเชื่อนั้นถูกต้อง ก็แปลว่าในระยะสั้น เด็กที่ผ่านการสอนของสถาบันนี้จะข้ามถนนเดินถนนถูกกฎในระยะยาวเมื่อโตขึ้นมีรถขับ จะขับรถด้วยความ ปลอดภัยตามกฎจราจร อนุมานต่อไปว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กที่ผ่านการสอนจะประสบอุบัติเหตุน้อยกว่าเด็กทั่วไป เมื่อโตขึ้นจะประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่น้อยกว่า คนรุ่นเดียวกันที่ไม่ผ่านการสอน

           ผู้เขียนก็อยากเอาใจช่วยให้เป็นไปในทางที่ดี แต่เมื่อไปสำรวจความรู้ที่ผู้เชี่ยวชาญรวบรวมสังเคราะห์ไว้ ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ชะรอยความเชื่อข้างต้นจะ ไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้สนับสนุน ดร.เมย์ฮิว แห่งมูลนิธิเพื่อการวิจัยการบาดเจ็บทางถนน ประเทศแคนาดาได้ตีพิมพ์บทสังเคราะห์องค์ความรู้ ใน วารสาร Injury Prevention ฉบับที่ 8 ปีพ.ศ.2545 รวบรวมความรู้ เกือบสามสิบปี ตั้งแต่ปีพ.ศ.2518-2545 สรุปใจความสำคัญได้ว่า โครงการฝึกอบรมหรือสอนขับขี่รถยนต์/จักรยานยนต์ทั้งหลายล้วนล้มเหลวในการส่งเสริมพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัย

         ข้อสรุปนี้สอดคล้องกับผลการสังเคราะห์ความรู้ก่อนหน้านี้ของนักวิชาการหลายกลุ่ม เช่นจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกิ้น ประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบันTransport South Australia ประเทศออสเตรเลีย กลุ่มCochrane Injuriesในสหราชอาณาจักร ฯลฯ ซึ่งเสนอผลงานในระหว่างปีพ.ศ.2543-45 ซ้ำร้ายกว่านั้น งานวิชาการหลายชิ้นยังสรุปด้วยว่า การสอนขับขี่ชักนำให้ผู้เรียนได้ใบขับขี่มาเร็วกว่าคนวัยเดียวกันที่
ไม่ได้ผ่านการสอน เลยออกถนนเร็วกว่า และประสบอุบัติเหตุมากกว่าเพื่อน

            ในรายงานชิ้นหนึ่งแสดงตัวเลขให้เห็นว่า ในบรรดานักเรียนชั้นมัธยมปลาย 16,388 คน เมื่อจำแนกเป็นสามกลุ่ม สองกลุ่มแรกผ่านการอบรมการขับขี่หลักสูตร 72 ชั่วโมง และ24 ชั่วโมง ได้ใบขับขี่ร้อยละ 88.4 และ 86.2 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่สามไม่ได้ผ่านการอบรมได้ใบขับขี่ ร้อยละ 84.3 เมื่อติดตามต่อมาพบอัตราการประสบอุบัติเหตุในสองกลุ่มแรกเท่ากับร้อยละ 28.6 และ 26.5 ตามลำดับ และ ในกลุ่มที่สาม พบร้อยละ26.7


               ถึงตรงนี้ เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงรู้สึกลำบากใจที่จะยอมรับข้อสรุปที่ออกจะสวนทางกับสามัญสำนึกทั่วไป ผู้เขียนจึงขอขยายความต่อไปว่า มีเหตุผลอันใดที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวเช่นนั้น

            1. การสอนฯละเลยหรือไม่ให้น้ำหนักเพียงพอต่อการปลูกฝังความรู้และทักษะที่จำเป็นยิ่งต่อการขับขี่ ปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ทักษะในการประเมิน ความเสี่ยงบนถนน ผู้เรียนอาจไม่ถูกฝึกให้ตระหนักและสามารถประเมินความ เสี่ยงของการขับขี่ยามค่ำคืน การขับขี่ขณะถนนลื่น การขับจักรยานยนต์บนช่อง ทางที่ใช้ความเร็วสูง เป็นต้น

           2. การสอนฯ ไม่สามารถปลูกฝังเจตคติที่ดีในการขับขี่ปลอดภัย ทำให้ผู้เรียนไม่ใส่ใจที่จะนำทักษะและความรู้ ไปใช้ในชีวิตจริง ความจริงที่อาจมองข้ามคือ ในชีวิตจริงมีสิ่งเร้าให้ผู้เรียนขับขี่ไปในทางที่เสี่ยงภัย เช่น โฆษณายานยนต์และผลิตภัณฑ์โดยใช้ความแรง ความเร็วเป็นจุดขาย ภาพยนตร์แนวแอ๊คชั่นที่ตัวละครแสดงลีลา ผาดโผนขณะขับขี่ เพื่อนฝูงที่มีค่านิยมความเร็วและแรงในการขับขี่ ฯลฯ สิ่งเร้าเหล่านี้มักมีแรงชักจูง(ในทางเสื่อม) มากกว่าเจตคติขับขี่ปลอดภัย ที่หลักสูตรปลูกฝังไว้

         3. การสอนฯ สร้างความเชื่อมั่นเกินจริงในความสามารถของตนเอง มีหลักสูตรจำนวนไม่น้อยฝึกให้ผู้เรียนขับขี่ สามารถประคองรถในสภาพการณ์ที่ลื่นไถล แต่ในชีวิตจริงโอกาสที่จะเผชิญสถานการณ์นี้มีน้อย
ทำให้ทักษะที่เรียนมาเสื่อมถอยไป โดยที่ผู้เรียนไม่ทันรู้ตัว เลยหลงผิดว่าตนยังมีความสามารถนั้นอยู่ จึงชะล่าใจ ปล่อยให้ตนเองเข้าสู่สถานการณ์ลื่นไถลโดยไม่จำเป็น ถ้าหันมาเน้นการฝึกสอนให้ผู้เรียนรู้จักและตระหนักในขีดจำกัดของตนเองอยู่ตลอดเวลา ก็จะลดความฮึกเหิม ลดความชะล่าใจนั้นได้ จะสังเกตเห็นว่า คนตาบอดและคนพิการอื่นๆมักระมัดระวังตัวในการเดินมากกว่าคนปกติ เพราะตระหนักรู้ขีดจำกัดของตนเองตลอดเวลา

          4. การสอนฯไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนจัดการกับสิ่งเร้าใจให้สุ่มเสี่ยงได้ มีการวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดอุบัติเหตุกับสิ่งเร้า ใจให้สุ่มเสี่ยง เช่น การท้าทายของเพื่อนให้แข่งรถ ตัวแบบในภาพยนตร์ การโฆษณาที่เย้ายวนด้วยค่านิยมโฉบเฉี่ยว เร็วแรง ฯลฯ สิ่งเร้าในทางเสี่ยงเหล่านี้ รุมเร้าสังคมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในขณะที่การสอนขับขี่ส่วนใหญ่มองข้ามการฝึกทักษะ ฝึกการครองสติให้เผชิญกับสิ่งเร้าอย่างมีวิจารณญาณ

            5. การสอนฯ ส่วนใหญ่มักมีหลักสูตรประเภทตัดเสื้อโหลแจกคือ ไม่คำนึงถึงพื้นเพทางสติปัญญา ทักษะ ความรู้ จิตใจ และร่างกายที่หลากหลาย จึงอาจจะไม่สามารถเติมเต็มในส่วนขาดที่สำคัญของแต่ละบุคคล คนที่ตาบอดสีอาจผ่านการสอนโดยไม่ได้รับการพัฒนาทักษะในการแยกแยะสัญญาณไฟจราจร ทำให้อาจตีความสัญญาณไฟผิดพลาด จนฝ่าไฟแดงและเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น


            ที่กล่าวมานี้ ไม่ได้เจตนาให้ผู้อ่านตีความว่า ควรยกเลิกการสอนขับขี่ทุกรูปแบบ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ยังมีโอกาสพัฒนาอีกมากรออยู่ หากการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนในเรื่องนี้จะก่อประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ตลอดจนภาคธุรกิจที่สนใจเรื่องนี้ ควรระดมสมอง และสังเคราะห์องค์ความรู้ให้รอบด้านเพื่อคิดค้นรูปแบบวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการใช้รถ ใช้ถนนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสังคมไทย โดยมีการวิจัยประเมินผล คอยกำกับตรวจสอบว่า สิ่งที่ออกแบบและ ดำเนินการเป็นไปตามความคาดหวังหรือไม่ ยังมีส่วนใดต้องปรับปรุง ผู้เขียนเชื่อว่า เส้นทางแห่งการพัฒนาคุณภาพกระบวนการเรียนรู้การขับขี่ปลอดภัยเป็นเส้นทางที่ไม่มีจุดจบ กระนั้นก็ตามหากจะริเริ่มให้สง่างาม พึงตั้งมั่นอยู่กับการใช้ความรู้ที่รอบด้าน

โดย นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
ผู้จัดการหน่วยจัดการความรู้เพื่อถนนปลอดภัย(จรป)
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี