เกร็ดความรู้เกี่ยวกับรถควันดำ


สาเหตุหลักๆสำหรับรถที่รถมีควันดำนั้น มีดังนี้
1. เครื่องยนต์สึกหรอมาก เช่น ลูกสูบและกระบอกสูบ แหวนลูกสูบชำรุด
2. ปั๊มฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุดและทำงานไม่ถูกต้อง หรือฉีดน้ำมันในจังหวะที่ไม่ถูกต้อง
3. หัวฉีดน้ำมันแรงดันสูงที่จ่ายเข้าไปในห้องเผาไหม้ชำรุด
4. กรองอากาศอุดตัน
5. น้ำมันเครื่องมีอายุการใช้งานมาก
6. เขม่าควันดำและฝุ่นละอองค้างอยู่ภายในท่อไอเสีย


ควันดำของเครื่องยนต์ดีเซล

สำหรับควันดำของเครื่องยนต์ดีเซลนั้น เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้คาร์บอนบางส่วนในน้ำมันเชื้อเพลิง (ไฮโดรคาร์บอน) ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จึงเหลือเป็นเขม่าดำออกมาทางท่อไอเสีย

สาเหตุ ของการเกิดควันดำ ซึ่งเนื่องมาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้นมีสาเหตุหลายประการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ กรองอากาศอุดตัน ทำให้อากาศเข้าไม่เพียงพอ ปรับแต่งปั๊มหัวฉีดไม่เหมาะสม หัวฉีดปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุดทำให้การฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เป็นฝอยละเอียด การออกแบบห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด
ในรถยนต์แต่ละคันอาจมีควันดำออกมามาก เนื่องจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง หรือหลายสาเหตุรวมกันดังกล่าว ดังนั้นการบำรุงรักษาและการปรับแต่งเครื่องยนต์อย่างเหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง

การทดสอบปริมาณควันดำด้วยตัวเอง
สามารถทำการตรวจสอบเบื้องต้น ดังนี้
1. ให้จอดรถยนต์อยู่กับที่และเดินเครื่องยนต์ไว้ไม่น้อยกว่า 5 นาที
2. เร่งเครื่องยนต์โดยเร็วจนสุดคันเร่ง ประมาณ 2-3 วินาที
3. สังเกตปริมาณควันดำที่ปล่อยออกจากท่อไอเสีย หากพบว่ามีปริมาณควันดำมาก (ควันสีดำเข้มมาก) ควรตรวจสอบสภาพและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว
4. ควรทำการตรวจสอบอย่างน้อยประมาณ 2 ครั้ง (ทำซ้ำตั้งแต่ข้อที่ 2-3)

วิธีแก้ไข

  1. ซ่อมแซมเครื่องยนต์ในส่วนที่สึกหรอ เช่น เปลี่ยนลูกสูบ แหวนลูกสูบ หรือ ทำการคว้านกระบอกสูบ แล้วเปลี่ยนลูกสูบให้ใหญ่ขึ้น
  2. ทำการเชคปั๊ม โดยนำเข้าศูนย์บริการ ทำการปรับแต่งปั๊มจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดสึกหรอ รวมทั้งปรับแต่งหัวฉีดน้ำมันและเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งการปรับแต่งอัตราและจังหวะการฉีดน้ำมันให้ถูกต้องเป็นไปตามบริษัทผู้ผลิตกำหนด
  3. เปลี่ยนไส้กรองอากาศใหม่ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบรูณ์ ตรวจดูหม้อกรองอากาศ ถ้าอุดตันมีฝุ่นจับมากให้ทำความสะอาด หรือเปลี่ยนใหม่ (โดยปกติจะเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง)
  4. ปรับแต่งเครื่องยนต์ให้ทำงานถูกต้องตามระยะเวลาที่เหมาะสม
  5. ทำการล้างท่อไอเสียโดยใช้น้ำหรือลมฉีดชะล้างเขม่าและฝุ่นละอองภายในท่อไอเสีย
  6. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลาที่เหมาะสม หรือ ตามที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด
  7. ตรวจสอบกำลังอัดของเครื่องยนต์ ถ้าต่ำกว่าปกติจะต้องซ่อมโดยเปลี่ยนแหวนลูกสูบหรือคว้านกระบอกสูบ
  8. ปรับแรงดันที่หัวฉีดให้ตรงตามกำหนด และหัวฉีดต้องฉีดน้ำมันเป็นละออง ถ้าหัวฉีดปรับแรงดันไม่ได้หรือฉีดน้ำมันไม่เป็นละอองให้เปลี่ยนชุดหัวฉีดใหม่
  9. ตั้งปั๊มหัวฉีดที่ความเร็วรอบต่าง ๆ ให้จ่ายน้ำมันตามกำหนด ถ้าหากปรับตั้งไม่ได้ เนื่องจากลูกปั๊มสึกหรอมาก ให้เปลี่ยนลูกปั๊มแต่ละชุดใหม่
  10. หลีกเลี่ยงการบรรทุกเกินพิกัด และควรขับรถอย่างนิ่มนวล